วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการอนุรักษ์การได้ยิน

โครงการอนุรักษ์การได้ยิน SCMP 1 และ SCMP 2


*ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2553

หลักการและเหตุผล

จากการสำรวจด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดยการวัดระดับความดังเสียง พบว่า สถานที่ทำงานบางจุดมีระดับความดังเสียงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการได้ยิน และสุขภาพจิตของพนักงาน ถึงแม้ว่าระดับเสียงดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม หมวด 3 เรื่อง เสียง แล้วไม่เกินกว่าที่กำหนดก็ตาม แต่ระดับเสียงในบางพื้นที่ สูงเกินกว่า 85 เดซิเบลเอ และให้เป็นไปตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2553 จึงควรจัดให้มีการดำเนินโครงการอนุรักษ์การได้ยินเพื่อเป็นการเฝ้าระวังทางการแพทย์ และเพื่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของพนักงานที่ทำงานในบริเวณที่มีเสียงดัง ในโรงงาน SCMP 1 และ SCMP 2



วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทราบและตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน

2. เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมป้องกันโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

3. เพื่อลดจำนวนผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินรายใหม่



กลุ่มเป้าหมาย

- พนักงานทั้งหมดที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสกับเสียงดัง ในพื้นที่ ห้องบด และ โรงฉีดพลาสติก และส่วนอื่นของโรงงาน



ระยะเวลาดำเนินโครงการ

เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวจึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างมาก ระยะเวลาจึงสามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมและควรมีการติดตามผลเป็นระยะ ๆ

ผู้รับผิดชอบโครงการ

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ SCMP 1

1. นายอาณัติ คำสม Safety officer SCMP1

2. นายสุวิทย์ ลีรัตน์ เจ้าหน้าที่พัฒนาระบบ SCMP1

3.คณะกรรมการความปลอดภัย SCMP 1



เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ SCMP 2

1. นางสาว กรรณิการ์ สุดสม Safety officer SCMP2

2. คณะกรรมการความปลอดภัย SCMP 2



รายละเอียดโครงการ

ขั้นตอนการดำเนินงานมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดนโยบาย การอนุรักษ์การได้ยิน ของบริษัท ฯ

1.1 บริษัทต้องทำการกำหนดนโยบายที่จะจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน โดยเขียนนโยบายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

1.2 ต้องทำการประกาศนโยบายให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน และลงมือปฏิบัติจริง

ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดบริเวณ พื้นที่การเฝ้าระวังเสียงดัง ( Noise Monitoring ) และ การเฝ้าระวังการได้ยิน ( Hearing Monitoring )

2.1 การกำหนดบริเวณที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน

2.1.1 การเฝ้าระวังเสียงดัง โดยการสำรวจและตรวจวัดระดับเสียง การศึกษาระยะเวลาสัมผัสเสียงดัง และการประเมินการสัมผัสเสียงดังของลูกจ้าง ในบริษัท ฯ แล้วแจ้งให้พนักงานทราบ

2.1.2 การกำหนด Hazardous Noise Areas ซึ่งได้แก่บริเวณที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

1) ค่า Leq สูงกว่า 85 เดซิเบล (เอ)

2) ค่า Short intermittent noise สูงกว่า 115 เดซิเบล (เอ)

3) ค่าสูงสุดของเสียงกระแทกสูงกว่า 140 เดซิเบล (เอ)

2.2 การศึกษาการสัมผัสเสียงของคนงาน

2.2.1 การตรวจวัดเสียงอย่างละเอียดในบริเวณที่เสี่ยงต่อการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน

2.2.2 การศึกษาระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัสเสียงในระดับความดัง ณ จุดที่ทำงาน

ต่างๆ

2.2.3 จากข้อ 2.2.1 และ 2.2.2 ทราบปริมาณเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับ ซึ่งสามารถเทียบกับมาตรฐานหรือกฎหมายได้ว่าเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ ข้อมูลนี้ยังช่วยในเรื่องการลดระยะเวลาสัมผัสเสียงเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยิน



ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดมาตรการหรือวิธีการควบคุมเสียงดัง และหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง

3.1 มาตรการสำคัญที่ใช้ในการควบคุมเสียง ได้แก่ มาตรการด้านวิศวกรรม มาตรการด้านการบริหารจัดการ และมาตรการด้านการแพทย์

3.2 ตัวอย่างมาตรการด้านวิศวกรรม เช่น การปิดล้อมแหล่งกำเนิดเสียง การกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงกับพนักงาน การลดความสั่นสะเทือนที่แหล่งกำเนิดเสียง เป็นต้น

3.3 ตัวอย่างมาตรการด้านการบริหารจัดการ เช่น การหมุนเวียนการทำงานในที่ที่มีเสียงดัง การใช้ที่อุดหูหรือครอบหู เป็นต้น

3.4 ตัวอย่างมาตรการด้านการแพทย์ เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน เป็นต้น

3.5 ในกรณีที่มีมาตรการหรือวิธีการควบคุมเสียงดังหลายๆ มาตรการหรือวิธีการ จะต้องจัดลำดับความสำคัญ เพื่อจะได้มาตรการหรือวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งเกณฑ์ที่ควรคำนึงถึงคือ ผลของการป้องกันอันตรายต่อการได้ยิน (ลดเสียงได้เท่าไร) ค่าใช้จ่าย ความเป็นได้ทางเทคนิค และจำนวนคนที่จะได้รับผลการควบคุมเสียง

3.6 พิจารณานำมาตรการหรือวิธีการข้างต้นไปใช้ที่ Source Path และ Receiver

ขั้นตอนที่ 4 การใช้ที่ครอบหูหรือที่อุดหูลดเสียง

4.1 ในทางปฏิบัติแล้วการควบคุมด้วยมาตรการด้านวิศวกรรม อาจต้องใช้เงินทุนสูงหรืออาจไม่ได้นำมาใช้ในระยะที่ต้องการเร่งด่วนทำการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน ดังนั้นจงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ครอบหูหรือที่อุดหูตามความเหมาะสม

4.2 สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเลือกใช้ที่อุดหูหรือครอบหูที่มีคุณสมบัติในการลดเสียงที่เกิดขึ้น ต้องสวมใส่ตลอดเวลาที่สัมผัสกับเสียงดังและต้องให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าว

ขั้นตอนที่ 5 การตรวจสมรรถภาพการได้ยินของพนักงาน

5.1 ทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน พนักงานที่สัมผัสเสียงดัง

1) ทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน ( Audiometric Testing ) แก่พนักงานที่สัมผัสเสียงดังที่ได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอ ขึ้นไป และให้ทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของพนักงานครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2) แจ้งผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินให้พนักงานรับทราบภายใน 7 วัน นับตั้งแต่บริษัท ฯ ทราบผลการทดสอบ

3) ให้มีการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของลูกจ้างซ้ำอีกครั้งภายใน 30 วัน นับตั้งแต่บริษัท ฯ ทราบว่าผลการทดสอบการได้ยินของพนักงานผิดปกติ

5.2 เกณฑ์การพิจารณาผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของ บริษัท ฯ ( อ้างอิงตามกฎหมาย )

1) ใช้ผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินครั้งแรกของพนักงานที่ความถี่ 500 1000 2000 3000 4000 และ 6000 เฮิรตซ์ ของหูทั้ง 2 ข้างเป็นข้อมูลพื้นฐาน ( Baseline Audiogram )

2) ให้นำผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินครั้งต่อไปเปรียบเทียบกับผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินที่เป็นข้อมูลพื้นฐานทุกครั้ง





ขั้นตอนที่ 6 การจูงใจ การอบรม และการให้ความรู้

6.1 ให้บริษัท ฯ จัดให้มีการอบรม ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์การได้ยิน ความสำคัญของการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน อันตรายของเสียงดัง การควบคุมป้องกัน การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล แก่พนักงานที่ทำงานในบริเวณที่มีระดับเสียงดังที่ได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานแปดชั่วโมง ตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอ ขึ้นไป และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการ

6.2 หัวข้อที่ควรอบรม ได้แก่ นโยบายการอนุรักษ์การได้ยินของโรงงาน หูและการได้ยิน ชนิดของการสูญเสียการได้ยิน การตรวจการได้ยิน การประเมินและการควบคุมเสียง อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียงต่อการได้ยิน และกฎหมาย

ขั้นตอนที่ 7 ประเมินผล และทบทวนโครงการอนุรักษ์การได้ยิน / การจัดเก็บข้อมูล

7.1 ข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1-7 ให้จัดทำบันทึกข้อมูล พร้อมจัดทำเอกสาร การดำเนินงาน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2553 เก็บไว้ที่สถานประกอบกิจการอย่างน้อย 5 ปี พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

7.2 ข้อมูลที่จัดเก็บควรเป็นข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ต่อการจัดการด้านมลพิษทางเสียง เช่น OSHA กำหนดว่าข้อมูลผลการตรวจวัดการได้ยินต้องประกอบด้วยชื่อผู้ปฏิบัติงาน งานที่ทำ วัน/เวลาที่ทำการตรวจวัด ผู้ทำการตรวจวัด วันสุดท้ายของการตรวจวัดความถูกต้องของเครื่องมือตรวจการได้ยิน ผลการตรวจวัดเสียงในห้องตรวจการได้ยินและที่ที่ผู้ปฏิบัติต้องสัมผัสกับเสียงดัง เป็นต้น

7.3 ให้มีการทบทวนและประเมินผลการจดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง ตามกฎหมาย

แนวทางการประเมินผล

1.จำนวนคนงานที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ Ear plugs และ Ear muffs มีเพิ่มขึ้นหรือไม่

2.จำนวนผู้ที่ประสบอันตรายใหม่เกี่ยวกับการได้ยินลดลงหรือไม่

3.การทดสอบความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมโดยใช้แบบสอบถาม



ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้บริหารรวมถึงพนักงาน ได้ทราบและตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงานในบริเวณที่มีเสียงดัง

2. พนักงานสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องในการทำงานในบริเวณที่มีเสียงดัง

3. ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของพนักงานที่ประสบปัญหาการได้ยิน

4. เป็นการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีด้านความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน





……………………………………….. ผู้เสนอโครงการ

( นายอาณัติ คำสม )

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ SCMP 1



……………………………………….. ผู้เสนอโครงการ

(นางสาว กรรณิการ์ สุดสม )

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ SCMP 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น